้คิดถึงเราเวลาหิว

้คิดถึงเราเวลาหิว
้คิดถึงเราเวลาหิว

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

น้ำมันหมูดีกว่าน้ำมันพืชจริงหรือ ?


ถึงแม้จะเป็นเรื่องเก่าแต่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม ถึงเวลาที่ทุกคนควรจะหันมาใส่ใจสุขภาพกันบ้างหรือยัง?


จากกระแสในโลกออนไลน์ซึ่งมีการเผยแพร่คลิปข้อสงสัยเกี่ยวกับน้ำมันประกอบอาหาร ซึ่งให้ความเห็นว่า น้ำมันมะพร้าวและน้ำมันหมูดีต่อการบริโภคมากกว่าน้ำมันพืช และยังมีบทความจากหลายแหล่งออกมาโต้แย้งทฤษฎีเก่าเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้น้ำมันพืชประกอบอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อกันมาตลอดว่า การบริโภคน้ำมันพืชดีกว่าการบริโภคน้ำมันหมู

หากย้อนกลับไปเมื่อ30กว่าปีก่อน น้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหารในครัวเรือนมีเพียงแค่น้ำมันหมูและน้ำมันมะพร้าวเท่านั้น ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมในการผลิตมีความก้าวหน้าก็มีการผลิตน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารจากพืชเพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งปัจจุบันทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น จึงมีการถกเถียงกันต่างๆนานาเกี่ยวกับการเลือกใช้น้ำมันบริโภค เนื่องจากคนไทยนิยมรับประทานของผัดและของทอดมากขึ้น ทำให้ต้องรับประทานน้ำมันในปริมาณที่สูงขึ้นด้วย

จากเดิมมีการให้ข้อมูลในการเลือกใช้น้ำมันในการประกอบอาหารว่า น้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์ มีความแตกต่างกัน คือ น้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันเมล็ดปาล์ม) มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าน้ำมันสัตว์ เพราะไม่ค่อยเป็นไข แต่จะทำปฎิกิริยากับความร้อนและออกซิเจนได้ง่าย ส่วนน้ำมันหมู มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นไขได้ง่าย และยังมีโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ ทั้งยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา

ปัจจุบันมีทฤษฎีใหม่ออกมาโต้แย้งข้อมูลเก่า โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลที่เข้าใจกันมานานนั้นเป็นข้อมูลที่ผิด น้ำมันพืชที่เราบริโภคอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่น้ำมันพืชที่ได้จากการสกัดแบบธรรมชาติ แต่เป็นน้ำมันพืชที่ผ่านกรรมวิธีทางเคมี โดยการเติมไฮโดรเจนเข้าไป ฟอกสีให้ดูสะอาด สดใส แวววาว พร้อมกับแต่งกลิ่น จึงเป็นโทษ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะกลายเป็นกาวเหนียว ๆ เข้าไปเกาะเคลือบผนังลำคอ ลำไส้ กระเพาะ ทำให้ผนังลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมสารอาหารต่างๆ ไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้ อีกทั้งไขมันไม่อิ่มตัวในน้ำมันพืช หากใช้ทอดหรือผัดในอุณหภูมิที่สูงมากเกินไป เป็นระยะเวลานานหรือใช้ซ้ำก็เป็นอันตราย เพราะไปเพิ่มสารอนุมูลอิสระทำร้ายเซลล์ในร่างกาย นำไปสู่โรคร้ายสารพัดในปัจจุบัน ตรงข้ามกับน้ำมันหมูที่เป็นไขมันอิ่มตัว แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไม่เป็นไข และละลายกับน้ำได้ ร่างกายจึงดูดซึมสารอาหารไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเป็นปกติ

ทั้งนี้ นางนัทยา จงใจเทศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความเห็นว่า แม้ทฤษฎีเก่าจะเป็นที่ยอมรับและเข้าใจกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่ทฤษฎีใหม่ก็มีทำให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แม้จะยังไม่มีผลการวิจัยที่ชี้แน่ชัด แต่ก็ทำให้คนสนใจการเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเลือกบริโภคน้ำมันพืชขององค์การอนามัยโลก (WHO) จากสัดส่วนของกรดไขมันระบุ กรดไขมันอิ่มตัว (SFA) : กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (MUFA) : กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (PUFA) ต้องเท่ากับ1 : 1.5 : 1จึงจะปลอดภัยที่สุด ซึ่งจากผลสำรวจกรดไขมันพบว่า น้ำมันรำข้าว มีกรดไขมันที่ดีที่สุดในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับคำแนะนำของWHO

กลายเป็นข้อถกเถียงกันไม่รู้จบ ทั้งยังเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายโดยตรง ที่ถึงแม้จะเป็นเรื่องเก่าแต่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม โดยเราสามารถสร้างสุขภาพที่ดีได้ด้วยตัวเอง เช่น ลดการบริโภคอาหารผัดและทอดและหันมาบริโภคอาหารประเภทต้ม ย่าง ยำ อบ และนึ่งแทน เพื่อลดปริมาณการรับประทานน้ำมันทั้งยังลดปัญหาอ้วนลงพุงและโรคต่างๆ

อีกทั้งเรื่องจริงที่ทุกคนรู้ดีกันอยู่แล้วคือความพิถีพิถันในการทําอาหารและเลือกวัตถุดิบที่สะอาดมีความปลอดภัยลดน้อยลง อาหารในปัจจุบันล้วนปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี ประกอบกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อสุขภาพ ไม่ใช่เฉพาะการบริโภคน้ำมันเท่านั้น ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีบวกกับการแข่งขันกับเวลา ความเร่งรีบ ทำให้นิยมบริโภคอาหารสําเร็จรูป บริโภคอาหารไม่ครบ 5 หมู่ บริโภคอาหารมากเกินไป และบริโภคอาหารจานด่วนที่ประกอบไปด้วย แป้ง ไขมัน และน้ำตาลในปริมาณมาก ทั้งยังรับประทานอาหารไม่เป็นเวลาซึ่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสุขภาพทั้งสิ้น

ถึงเวลาที่ทุกคนควรจะหันมาใส่ใจสุขภาพกันบ้างหรือยัง?

ขอบคุณข้อมูลประกอบบางส่วนจาก สํานักโภชนาการ กรมอนามัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น